จิตอาสา ”เราทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
ณ หลักกิโลเมตรที่ 123 ของถนนพหลโยธินตรงจุดที่เรียกว่า สามแยกพุแค นี่คือจุดเริ่มต้นของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ที่เชื่อมโยงจังหวัดภาคกลางไปยังภาคอีสานซึ่งสิ้นสุดที่จังหวัดเลย และนี่คืออีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยว “ห้ามพลาด” ก่อนที่จะขึ้นไปเยี่ยมเยือนสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทยอย่าง “เขาค้อ” แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของ “เพชรบูรณ์” 1 ใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด
สถานที่ท่องเที่ยวที่ถือเป็นหนึ่งไฮไลต์ของเส้นทางนี้คือ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” โบราณสถานที่ก่อกำเนิดขึ้นในยุคที่ขอมเรืองอำนาจโดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี เดิมมีชื่อว่า “เมืองอภัยสาลี” โดยมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,889 ไร่ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เมืองส่วนในมีลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องทางเข้าออก 6 ช่องทาง พื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนคลื่น มีสระน้ำ หนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป พบซากโบราณสถานกว่า 70 แห่ง บางแห่งได้รับการขุดแต่งบูรณะแล้ว และเมืองส่วนนอกมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อกับเมืองส่วนใน ขนาดเป็น 2 เท่าของเมืองส่วนใน มีช่องทางเข้าออก 6 ช่องทาง มีสระน้ำกระจายอยู่ทั่วไป และพบโบราณสถานกระจายอยู่แบบเดียวกัน
สถานที่สำคัญ ได้แก่ ปรางค์สองพี่น้อง ปรางค์ศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังใน และโบราณสถานเขาคลังนอก ซึ่งล้วนแล้วแต่มีร่องรอยศิลปะแบบขอมให้ศึกษาเรียนรู้ ก่อสร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ บริเวณด้านในประตูแสนงอน (ประตูด้านทิศตะวันตก) เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป โดยทุกปีจะมีงานบวงสรวงราวเดือนกุมภาพันธ์ ในวันขึ้น 2-3 ค่ำ เดือน 3
แล้วไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเพชรบูรณ์ที่ “หอโบราณคดีเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย” ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์หลังเก่าที่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นหอโบราณคดี โดยตั้งชื่อตามพระนามของเจ้าฟ้ากรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสอันดับที่ 72 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 จัดแสดงของกินในเพชรบูรณ์ ชื่อว่า ห้องครัวเพชรบูรณ์ ระยะ 2 จะเป็นการจัดแสดงเรื่องราวตั้งแต่ยุคก่อนประวัติ ศาสตร์มาจนถึงยุคศรีเทพ ระยะ 3 จัดแสดงในช่วงต่อมาคือ สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ จนถึงยุคร่วมสมัย นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์บริการการท่องเที่ยวของเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ (Tourist Service Center) อีกด้วย
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเที่ยวไร่ชมสวนห้ามผ่านเลย “ไร่กำนันจุล” ที่เกิดจากด้วยความฝันอันแรงกล้า ของ นายจุล คุ้นวงศ์ หรือ กำนันจุล ที่ต้องการทำการเกษตรโดยมีความคิดว่า “ในอนาคตคนจะงอก แต่แผ่นดินไม่งอก” จึงได้ตัดสินใจอพยพครอบครัวมาเริ่มต้นทำการเกษตรที่บริเวณสามแยกวังชมภู อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ตามคำแนะนำของ หลวงพ่อทบ วัดช้างเผือก ที่ว่า ดินบริเวณนี้เป็นที่ “น้ำไหลทรายมูล” คือ น้ำพัดเอาความอุดมสมบูรณ์ของดินมารวมไว้ด้วยกันและมีน้ำซับไหลซึมจากใต้ดินตลอดปีเหมาะแก่การทำสวนผลไม้
แม้จะไม่มีประสบการณ์ในการทำการเกษตร แต่ด้วยความใฝ่รู้ ชอบค้นคว้า ทดลองและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในงานเกษตร จึงส่งผลให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ทั้งยังแบ่งปันความรู้และช่วยงานสาธารณประโยชน์ให้กับสังคมโดยรอบเสมอมาปัจจุบันไร่กำนันจุลเป็นแหล่งผลิตเส้นไหม สินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปมากมาย มีทั้งร้านขายส่ง ขายปลีกหลายสาขา
สัมผัสความสงบที่ “วัดธรรมยาน” ชมความงดงามของพระอุโบสถที่มีพญานาคคู่พ่นน้ำอยู่ด้านหน้า ก่อนจะไปสักการะสมเด็จพระพุทธธรรมยาน สมเด็จองค์ปฐม สมเด็จปางจักรพรรดิ์ รูปเหมือนหลวงปู่ปาน รูปเหมือนหลวงพ่อฤาษีลิงดำหรือพระราชพรหมญาณ ในมหาวิหารที่มีขนาดกว้างใหญ่พื้นที่กว่า 4 ไร่ ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่ในการปฏิบัติธรรมและประกอบพิธีทางสงฆ์ด้วย
เปลี่ยนบรรยากาศไปผ่อนคลายที่ “พุเตยสปา” ตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะน้ำพุร้อนพุเตย น้ำแร่ซึ่งเกิดจากธรรมชาติของที่นี่ไม่มีกลิ่นกำมะถัน ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผิวกาย น้ำแร่จึงมีคุณค่าในตัวอยู่ อุณหภูมิของน้ำแร่อยู่ที่ประมาณ 36-40 องศา ด้วยแนวความคิดสืบทอดภูมิปัญญาไทยในการนวดแผนโบราณให้อยู่คู่กับสังคมไทย และเป็นการสร้างมูลค่าให้กับทรัพยากรในท้องถิ่น เทศบาลตำบลพุเตยจึงได้จัดสร้างอาคารศูนย์สุขภาพพุเตยที่ได้รับการออกแบบและตกแต่งให้เป็น “สปา” เพื่อให้บริการกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ มีทั้งห้องอาบน้ำแร่พุน้ำร้อนซึ่งมีอ่างจากุชชี่ขนาดใหญ่ ผ่อนคลายตามแบบวารีบำบัด นวดแผนโบราณ สปาหน้า สปาเท้า นวดตัวด้วยน้ำมันหอมระเหย หรืออโรมาเธอราปี ด้วยสารสกัดสมุนไพรธรรมชาติ เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. โทร. 0-5679-7837
สอบถามรายละเอียดเส้นทางท่องเที่ยวได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพิษณุโลก โทร. 0-5525-2742-3 หรือเฟซบุ๊ก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานพิษณุโลก